THA  ENG   JPN
หน้าหลัก > เรื่องจริงของเด็กนักเรียนทุน EDF > ความหวังที่ยังไม่หายไปกับสายน้ำ
ความหวังที่ยังไม่หายไปกับสายน้ำ
จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงทีสุดในรอบ30ปี ในพื้นที่กว่า 30 จังหวัดของประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยจำนวนนับล้านคน บางคนต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน ขาดรายได้ ในขณะที่อีกหลายคนต้องพลัดพรากจากครอบครัวและอพยพไปพักอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิงต่างๆ และคนอีกจำนวนมากต้องสูญเสียทรัพย์สินไปกับอุทกภัย
 
ในวันนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวอีกมุมหนึ่งของครอบครัว “น้องปิ” หรือเด็กหญิง ปิยฉัตร นนทวัน เด็กหญิงวัย 12 ปี นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนบ้านคูเดื่อ ที่อาศัยอยู่กับตายายและน้องสาวเล็กๆอีก 2คนที่บ้านคูเดื่อ ตำบลแจระแม จังหวัดอุบลราชธานี บ้านคูเดื่อเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อาจจะไม่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆมากนัก แต่ผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ เหมือนเป็นการซ้ำเติมทำชีวิตความเป็นอยู่ของทั้ง 5 ชีวิตในครอบครัวที่ลำบากอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก
พ่อแม่ของน้องปิแยกทางกันเมื่อหลายปีก่อน และทิ้งเธอกับน้องสาวอีกสองคนให้ตากับยายเลี้ยงดู พ่อกับแม่ไม่เคยกลับมาอีกเลยหลังจากนั้น ทำให้สองตายายต้องแบกรับภาระในการเลี้ยงดูหลานๆในวัยเรียนทั้งสามคน ในกระต๊อบเล็กๆที่สร้างบนที่ดินสาธารณะ มุงด้วยหญ้าคา เศษสังกะสี และไม้อัดเก่าๆที่พอหาได้ ที่บ้านน้องปิไม่มีโทรทศน์ จะมีก็เพียงแต่วิทยุทรานซิสเตอร์แบบใส่ถ่านของตา ที่ทำให้ครอบครัวนี้ได้รับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกบ้าง

บ้านของน้องปิตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “หาดคูเดื่อ” ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะที่มีแม่น้ำมูลล้อมรอบและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวริมน้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นประจำทุกวัน ยายของน้องปิจะหาบผลไม้ท้องถิ่นไปเร่ขายให้แก่นักท่องเที่ยวได้กำไรวันละ100-150บาทขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละวัน หากวันไหนขายเหลือก็จะขาดทุน ส่วนตาของน้องปิอายุประมาณ 60 ปี มีอาชีพรับจ้างทั่วไปและมีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท ในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ น้องปิก็จะทำงานพิเศษ เป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารที่ให้บริการนักท่องเที่ยวบริเวณนั้น โดยได้รายได้ประมาณวันละ 70-100 บาท โดยเงินทั้งหมดที่ได้น้องปิจะให้ยายเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆในบ้าน โดยยายจะให้ค่าขนมเธอกับน้องอีกสองคนไปโรงเรียนรวมกันวันละ 10-20บาท


น้องปิ กับยายและน้องๆอีกสองคนในกระต๊อบมุงจากที่สร้างบนที่ดินสาธารณะบริเวณหาดคูเดื่อ
 
ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา น้ำจากแม่น้ำมูลได้เอ่อเข้าท่วมสูงบริเวณหาดคูเดื่อ และชุมชนรอบข้าง รวมถึงโรงเรียนบ้านคูเดื่อที่น้องปิเรียนอยู่ด้วย ทำให้น้องปิ และยายต้องขาดรายได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว และร้านอาหารต่างๆก็ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ส่วนบ้านของน้องปิก็กลายสภาพเป็นเหมือนเกาะอยู่กลางน้ำจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ยากลำบาก
 
ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่เราได้ไปเยี่ยมบ้านน้องปิ แม้ระดับน้ำบริเวณรอบบ้านจะลดลงบ้างแล้วแต่น้ำส่วนใหญ่ก็ยังท่วมทั่วทั้งบริเวณหาดคูเดื่อ ทำให้น้องปิและครอบครัวต้องขาดรายได้เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนแล้ว ยายต้องเอาเงินเก็บทั้งหมดที่มีไม่มากนักออกมาใช้จุนเจือครอบครัวระหว่างที่ไม่มีรายได้จนหมดไปตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์หลังน้ำท่วม ทุกวันนี้ทั้ง 5 ชีวิตในบ้านหลังนี้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยถุงยังชีพที่ทางหน่วยงานราชการจะนำมาแจกบ้างบางครั้ง


สภาพบ้านของปิยฉัตรในวันที่เราเดินทางไปเยี่ยม น้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีน้ำล้อมรอบๆบ้านทำให้บ้านของเธอเป็นเหมือนเกาะกลางน้ำ

น้องปิพูดกับเราว่า “หนูอยากให้น้ำลดเร็วๆ หนูจะได้กลับไปโรงเรียน ได้กลับไปทำงานอีกครั้ง หนูสงสารตากับยายที่ต้องลุยน้ำออกไปหาอาหารมาให้หนูกับน้องๆกิน เรือเราก็ไม่มี น้ำท่วมอย่างนี้ออกไปไหนก็ลำบาก ต้องคอยระวังงูหรือตะขาบไม่ให้มากัด”

“ยายก็ไม่รู้ว่าน้ำจะลดลงเมื่อไหร่ ถ้าน้ำลดแล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ก็ไม่รู้ คงต้องใช้เวลากว่าร้านอาหารและนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม ยายก็ห่วงแต่หลานๆถ้าเราไม่มีเงินแล้วหลานๆจะเอาอะไรกิน จะไปโรงเรียนอย่างไร ไหนจะตาที่ก็ไม่ค่อยแข็งแรง ที่ดินทำกินเราก็ไม่มี บ้านยังต้องอาศัยที่หลวงอยู่” ยายของน้องปิพูดกับเราพลางน้ำตาคลอเบ้า

คุณครูของน้องปิได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเราว่า “นอกเหนือจากน้องปิจะเป็นเด็กกตัญญูแล้วเธอยังเป็นประธานนักเรียน และมีผลการเรียนและความประพฤติดีมาก ได้รับความไว้วางใจจากโรงเรียนให้เป็นตัวแทนทำกิจกรรมต่างๆมากมาย อีกทั้งยังเป็นตัวแทนนักเรียนกล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณแขกที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนอยู่เป็นประจำอีกด้วย


สภาพน้ำท่วมโดยรอบหาดคูเดื่อ รวมถึงร้านอาหารต่างๆบริเวณนั้น ทำให้ปิยฉัตร และยายต้องขาดรายได้


น้องสาวทั้งสองคนของปิยฉัตรที่ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามลำดับ
 
เด็กหญิงปิยฉัตร นนทวัน เป็นหนึ่งในนักเรียนยากจนที่สมัครขอรับทุน EDF ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในปีการศึกษา 2555 นี้ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจของ EDF พบว่า ยังมีน้องๆที่สมัครขอรับทุนอีกจำนวนนับพันคน ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด เช่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม หนองคาย และสุรินทร์เป็นต้น ซึ่งนอกจากผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่โดยตรงแล้ว ยังมีอีกเด็กๆอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่พ่อแม่ต้องตกงานจากการไปเป็นแรงงานในกรุงเทพหรือในจังหวัดภาคกลางที่ประสบอุทกภัย เด็กๆเหล่านี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของการต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากผู้ปกครองที่ยากจนอยู่แล้วต้องขาดรายได้หรือตกงาน และเพื่อที่พวกเขาจะสามารถช่วยหารายได้จุนเจือครอบครัวหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยผ่านพ้นไป

วันนี้ท่านสามารถร่วมเปลี่ยนแปลงอนาคตของเด็กๆเหล่านี้ได้ ผ่านโครงการทุนการศึกษา EDF เพื่อให้พวกเขาได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งหนึ่งในวันเปิดเทอมปีการศึกษา 2555 ที่กำลังจะมาถึงนี้
2011-11-28 | เรื่องจริงของเด็กนักเรียนทุน EDF | เปิดอ่าน 12603

ลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสาร EDF

มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา(EDF)
594/ 22 พาทิโอ เรสซิเดนซ์ รัชโยธิน ซอยพหลโยธิน 32 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร: 02-579-9209 ถึง11 | Line: @edfthai | อีเมล์: [email protected]
Connect with EDF        
มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาเป็นองค์กรสาธารณกุศลลำดับที่ 255
ทุกการบริจาคผ่าน มูลนิธิฯ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีตามกฎหมาย
© 2011 EDF-Thailand