Dr. Prem Naidoo กับโครงการ Thai-ED เพื่อการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทย |
บทสัมภาษณ์ Dr.Prem Naidoo จิตแพทย์จากซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ริเริ่มโครงการ Thai-Ed ร่วมกับ EDF เพื่อส่งเสริมเด็กยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีโอกาสได้เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนภายใต้โครงการแล้วกว่า 100 คน
คุณหมอมีเหตุผลอย่างไรในการตัดสินใจเลือกองค์กรสาธารณกุศลที่จะนำโครงการนี้มาเข้าร่วม
ผมเลือกที่จะร่วมงานกับ EDF เนื่องจากได้ยินชื่อเสียงขององค์กร และเคยได้ยินเกี่ยวกับกองทุนดรุณี ที่เกิดขึ้นหลังจากที่คุณ อาคิโอะ เทรุมาสะ ได้พบกับเด็กหญิงดรุณี เด็กชาวอีสานคนหนึ่งที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา กองทุนนี้เกิดขึ้นจากความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ของสองประเทศที่มีโอกาสดีกว่า ซึ่งก็คือประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น ที่มีต่อพื้นที่ที่มีผู้ด้อยโอกาส นั่นก็คือภาคอีสานของประเทศไทย ผมเคยเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่กษัตริย์โซบูซ่าแห่งประเทศสวาซิแลนด์ได้ทรงตั้งชื่อให้ว่า กัมฮลาบา ซึ่งมีความหมายว่า โลกใบเดียวกัน ผมเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลกนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดของพุทธศาสนา
เมื่อผมได้พบกับทีมงานของ EDF สิ่งที่ผมประทับใจก็คือความเปิดใจกว้าง ความรักเพื่อนมนุษย์ และความเต็มใจที่จะไว้วางใจผู้อื่น ไม่ว่าในองค์กรใดๆ คุณสมบัติที่น่ายกย่องก็คือ ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ความดีงาม ความรับผิดชอบ และการให้ความเคารพผู้อื่น ซึ่งผมรู้สึกได้ถึงสิ่งเหล่านี้ใน EDF
จากประสบการณ์ในการทำกิจกรรมการกุศลของคุณหมอ อะไรคืออุปสรรคสำคัญระหว่างองค์กรการกุศลกับผู้บริจาค
การที่ผู้บริจาคจะให้ความสนใจต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่น และความเชื่อถือต่อองค์กรนั้น ผมเองค่อนข้างประหลาดใจอยู่ทีเดียว กับความคลางแคลงใจที่เกิดขึ้นกับหลายๆคนเมื่อพูดถึงการบริจาคเงินเพื่อการกุศล ผมจึงเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริจาคจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้บริจาคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอและต่อเนื่อง ความรู้สึกว่าองค์กรนี้เชื่อถือและพึ่งพาได้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
ผมคิดว่าส่วนที่สำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ ก็คือความเคารพซึ่งกันและกัน การให้ความเคารพต่อความช่วยเหลือของผู้บริจาคเป็นสิ่งสำคัญมาก เรามักจะมองข้ามไปว่าเงินสนับสนุนแต่ละบาทที่ผู้บริจาคมอบให้เราดูแลนั้น หามาด้วยความยากลำบาก ดังนั้นเราจึงต้องแสดงให้รับรู้ในความซาบซิ้งต่อน้ำใจของผู้บริจาคแต่ละคน เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้
คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรต่อสมาคมต่างๆที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการช่วยเหลือ
คำแนะนำง่ายๆที่ผมมีให้ต่อใคร ไม่ว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมหรือไม่ก็ตาม ก็คือขอให้ลงมือทำเลย การช่วยคนอื่นก็เปรียบเสมือนการช่วยตัวเราเองด้วย สังคมของเราอยู่กันได้ก็เพราะเราต่างเชื่อใจกันมากพอที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีใครที่อยู่ได้โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้แนะนำให้เพื่อนคนหนึ่งอ่านหนังสือเรื่อง “คนนอก” โดยอัลแบร์ กามูส์ (“The Outsider” by Albert Camus) เมื่อเธออ่านไปได้สองสามบท เธอก็บอกผมว่า เรื่องมันน่าหดหู่ แต่สำหรับผมมันไม่ใช่เลย สิ่งที่เรื่องนี้ต้องการนำเสนอ คือข้อคิดอันลึกซึ้ง ว่าสังคมคาดหวังต่อมนุษย์อย่างไร มันคือการมีส่วนร่วม ความใส่ใจ และความร่วมแรงร่วมใจ ผมเรียกมันว่า ความตั้งใจจริง
มีองค์กรการกุศลมากมาย เช่น องค์กรโรตารี่ ที่พร้อมจะช่วยผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ ในอินเตอร์เน็ตก็มีข้อมูลมากมากเกี่ยวกับองค์กรการกุศลต่างๆ เมื่อไม่นานนี้ ผมรู้สึกประทับใจมากที่ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับองค์กร CO-ID ซึ่งก่อตั้งโดย เฟร็ด ไฮด์ โดยเป็นองค์กรที่ช่วยชาวออสเตรเลียสร้างโรงเรียนในประเทศบังคลาเทศ การที่ไม่มีองค์กรใดที่ทำในสิ่งที่คุณต้องการจะทำโดยตรง นั้นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถที่จะทำในสิ่งที่คุณต้องการได้ เพราะคุณเองก็สามารถที่จะตั้งองค์กรขึ้นมาเองได้ และร่วมมือทำงานกับองค์กรที่เป็นที่รู้จักและยอมรับมากกว่า อย่ากลัวที่จะลองติดต่อกับเองค์กรอื่นๆ เพื่อเสนอความคิดเห็น และที่สำคัญคือ ขอให้ไว้ใจในผู้อื่น
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณหมอเลือกบริจาคเงินให้กับกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กในภาคอีสานของประเทศไทย
ในทุกประเทศ มีทั้งผู้ที่มีอันจะกินและไม่มีอันจะกิน สายน้ำแห่งความยากจนที่รินไหลผ่านใจกลางกรุงเทพนั้น มีที่มาจากประชากร 12-14 ล้านคนที่อาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในภาคอีสาน ผู้คนในโลกรู้จักคนอีสาน แต่ไม่รู้ว่าสภาพชีวิตที่นั่นเป็นอย่างไร แม้แต่คนกรุงเทพฯเอง ก็ยังมองภาคอีสานเป็นดินแดนที่ถูกลืม ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย หน้าที่สำคัญของเราคือการช่วยกันแทนที่บรรยากาศแห่งความแร้นแค้น ด้วยบรรยากาศแห่งความหวังและแรงปรารถนาแห่งอนาคตที่สดใส และผู้ที่เหมาะที่สุดที่เราจะมอบสิ่งนี้ให้ก็คือ เด็กๆแห่งภาคอีสานนั่นเอง
สโมสรโรตารี่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ Thai-ED อย่างไร และคุณหมอเองได้มีส่วนช่วยหาเงินสนับสนุนให้กับโครงการนี้อย่างไรบ้าง
สโมสรโรตารี่สองแห่งที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งโครงการ Thai-ED ก็คือสโมสรโรตารี่แห่งแช็ตส์วูดในซิดนี่ย์ และสโมสรโรตารี่แห่งกรุงเทพฯ ผมต้องขอบคุณอย่างจริงใจต่อคุณปีเตอร์ คินเดร็ด ที่ออสเตรเลีย และศาสตราจารย์ ซาดอค เล็มเพิร์ท ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากโครงการ Thai-ED นี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้ความช่วยเหลือจากสองท่านนี้ สโมสรโรตารี่นั้นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในด้านของการให้การสนับสนุนโครงการการกุศลทั่วโลก ส่วนแผนขั้นต้นของโครงการ Thai-ED นั้น คือการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภาคอีสาน ซึ่งเราก็หวังว่าความช่วยเหลือจากมูลนิธิโรตารี่ จะช่วยให้เราสามารถขยายขอบข่ายของการช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆสำหรับห้องสมุด
เงินบริจาคส่วนมากที่เราได้มาจะมาจากผู้บริจาครายย่อย ในเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียว เราสามารถหาทุนการศึกษาให้กับเด็กได้ถึงห้าสิบคน ในปี 2009 เราวางแผนจะเริ่มต้นรณรงค์ให้เร็ว และหวังว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าปีนี้
เราหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆบ้าง เช่น จากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนทางการแพทย์หรือการพยาบาล
ผมได้ติดต่อโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในซิดนี่ย์ ดูเหมือนว่านักเรียนด้วยกันจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจนักเรียนคนอื่นที่ยากไร้กว่าตัวเองได้ดี พวกเขาจึงเสนอตัวที่จะให้การช่วยเหลือโดยตรง ซึ่งผมคิดว่านี่แหล่ะคือทางที่จะช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้นได้จริง จนถึงตอนนี้ มีโรงเรียนสองแห่งแล้วที่แสดงความสนใจด้วยการขอข้อมูลเพิ่ม
เราได้วางแผนที่จะจัดงานการกุศลขึ้น โดยจะจัดงานที่ภัตตาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในซิดนี่ย์ หากงานนี้ได้รับความสำเร็จ เราก็จะจัดงานแบบนี้ขึ้นอีก โดยอาจจะจัดที่ร้านอาหารไทยบ้าง เพื่อให้เข้ากับวัตถุประสงค์
RAWCS คือหน่วยงานเกี่ยวกับอะไร และอะไรที่ทำให้คุณหมอดำเนินโครงการกับหน่วยงานนี้
RAWCS ย่อมาจาก Rotary Australia World Community Services ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศออสเตรเลียที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยหน่วยงานต่างๆ อย่างเช่นเราคนทำโครงการ Thai-ED ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสโมสรโรตารี่ แต่สามารถได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนของสโมสรโรตารี่ โดยหลักการแล้ว สโมสรโรตารี่จะร่วมงานโดยตรงกับโครงการของสโมสรเท่านั้น แต่ RAWCS สามารถช่วยโดยการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เช่น EDF ดังนั้นความช่วยเหลือของ RAWCS จึงเปรียบเสมือนของขวัญจากพระเจ้าให้กับ Thai-ED และเด็กๆในภาคอีสาน ที่จะได้รับโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาทั้งชีวิต
การศึกษาจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กให้หลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งความยากจนได้อย่างไร
ความยากจนนั้นถือเป็นมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ตอกย้ำให้ผู้คนที่ประสบกับสภาพนี้ยอมรับว่าความขาดแคลนนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาหลีกหนีไม่ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการซึมซับความรู้สึกของความไร้ความสามารถในการจะหลุดออกไปจากสภาพนี้ ซึ่งมีผลยาวนานเป็นสิบๆปี ดังนั้นหน้าที่ของการศึกษาก็คือ การทำลายกำแพงแห่งความสิ้นหวังนี้ลง
การศึกษาไม่ควรแต่เพียงมองถึงแต่ด้านการเรียน แค่การสอบผ่าน แต่ที่สำคัญก็คือการปลูกฝังทัศนคติว่า การเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงความฝัน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง
นักแสดงชาวอังกฤษที่ชื่อ ไมเคิล เคน เคยกล่าวถึงความฝันอันเหลือเชื่อของเขา เขากล่าวว่าเขามีความฝันอันเหลือเชื่ออันหนึ่ง ที่เขามีตลอดมาโดยไม่คิดว่ามันจะเป็นจริง แต่ในวันหนึ่ง จู่ๆก็เหมือนราวกับมีมนต์วิเศษมาบันดาลให้ความฝันนั้นเป็นจริง เช่นเดียวกันกับเด็กในภาคอีสานทุกคนที่มีความฝันอันเหลือเชื่อต่างๆกันไป แต่พวกเขาต้องได้รับการศึกษา เพื่อให้ฝันของพวกเขาสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้
อยากจะกล่าวอะไรฝากต่อผู้มีจิตเมตตาคนอื่นๆไหม
สำหรับผมแล้ว ความหมายของชีวิตเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ และผมเชื่อว่าสิ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนได้ดีที่สุด ก็คือการช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสในโลกนี้ สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากการรับ แต่เกิดขึ้นจากการให้ และนี่คือสัจธรรมแห่งชีวิตที่ผู้มีจิตเมตตาคนอื่นๆได้ค้นพบเช่นเดียวกัน
สุดท้ายนี้ผมขอฝากคำพูดของ เนลสัน แมนเดลล่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ยิ่งใหญ่ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “การขจัดความยากไร้ให้หมดไปนั้น ไม่ใช่การกระทำเพื่อบุญกุศล แต่เป็นการกระทำเพื่อความยุติธรรม”
(ทางมูลนิธิฯขอขอบคุณ ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาสาสมัครใจดีของ EDF ที่กรุณาช่วยแปลบทสัมภาษณ์จากต้นฉบับภาษาอังกฤษ)
|