ตากับยายไม่มีที่ดินทำกิน หรือที่นาเหมือนครอบครัวอื่นๆ มีแต่พื้นที่รอบๆบริเวณบ้านซึ่งแม้จะไม่กว้างขวางมากนัก แต่ตากับยายก็ใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ เช่นผักบุ้ง มะนาว พริกขี้หนู กะเพรา ตะไคร้ กล้วย ข้าวโพด รวมถึงเลี้ยง เป็ด ไก่ ซึ่งนอกเหนือจากจะนำมาใช้บริโภคภายในครัวเรือนโดยไม่ต้องซื้อหาแล้ว ผลผลิตที่เหลือยังสามารถนำไปขายที่ตลาดได้รายได้ประมาณครั้งละ 200-300 บาท
นอกเหนือจากช่วยตากับยายเลี้ยงน้อง และทำงานบ้านต่างๆแล้ว ทุกๆวันตอนเช้า และหลังเลิกเรียน แป้งยังช่วยตากับยาย รดน้ำ ดูแลแปลงผัก และให้อาหารเป็ด ไก่ เป็นประจำอีกด้วย
"แป้ง" หรือ ปาริชาติ บารัน วัย 14 ปี กับ นางพุ่ม วัย 57 ปี ซึ่งเป็นคุณยายของเธอ
แป้ง พูดถึงความรู้สึกที่ได้รับทุนการศึกษาว่า “ตอนที่หนูรู้จากครูว่าหนูได้รับทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อจนจบชั้นม.3 หนูรู้สึกดีใจมาก เพราะหนูไม่ใช่คนเรียนเก่ง หนูรีบกลับบ้านไปบอกตากับยาย ซึ่งท่านก็บอกว่าให้หนูตั้งใจเรียนให้มากๆ คนที่เขาให้ทุนจะได้ภูมิใจ”
“เงินทุนการศึกษาที่หนูได้รับ หนูได้นำไปใช้ซื้อเครื่องเขียน อุปการณ์การเรียนที่จำเป็น ชุดพละ และรองเท้ากีฬา ส่วนชุดนักเรียนหนูใช้ของเก่าของพี่สาวหนูค่ะ เงินทุนที่เหลือหนูก็สะสมเอาไว้ใช้ยามจำเป็นค่ะ หนูขอขอบคุณผู้ให้ทุน ที่ให้โอกาสหนูได้เรียนหนังสือ มีชีวิตที่ดีขึ้น หนูสัญญาว่าจะขยันและตั้งใจเรียน จะไม่ทำให้ท่านผิดหวังค่ะ”
สภาพความเป็นอยู่ภายในบ้านของแป้ง
แป้งมีความฝันที่อยากจะเรียนต่อป.ว.ช. สายอาชีพ หลังจากเรียนจบชั้นม.3 เพื่อที่เธอจะได้เรียนจบเร็วๆ หางานดีๆทำ และสามารถช่วยเหลือครอบครัว ดูแลตายาย และส่งน้องให้เรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัย
ทุนการศึกษาที่ “แป้ง” และเด็กนักเรียนทุนคนอื่นๆได้รับนั้น นอกจากจะเป็น “โอกาส” ที่อาจเปลี่ยนแปลงอนาคตของพวกเขาได้ตลอดไปแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่ง “กำลังใจ” สำคัญ ที่ทำให้เด็กๆเหล่านี้ รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ “ต่อสู้กับโชคชะตา” อยู่เพียงลำพัง แต่อย่างน้อยยังมี “อีกหนึ่งคน” ในสังคม ที่อาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย “ต่อลมหายใจ” ทางการศึกษา ในยามที่พวกเขากำลังจะหมดแรง….
ส่วนหนึ่งของแปลงพืชผักสวนครัวบริเวณรอบๆบ้านของแป้ง
|