THA  ENG   JPN
หน้าหลัก > เรื่องจริงของเด็กนักเรียนทุน EDF > คุณเปรมจิต บำรัมย์ อดีตนักเรียนทุน EDF (พ.ศ.2535-2540)
คุณเปรมจิต บำรัมย์ อดีตนักเรียนทุน EDF (พ.ศ.2535-2540)

คุณเปรมจิต บำรัมย์ อดีตนักเรียนทุน EDF ชั้นม.1-6 (พ.ศ.2535-2540) จังหวัดยโสธร
การศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ2 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยมหิดล
หน้าที่การงานในปัจจุบัน : พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

“ดิฉันไม่เคยน้อยใจที่เกิดมายากจน ไม่เคยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่รํ่ารวย ดิฉันคิดว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่มีสิทธิที่จะเลือกทางเดินที่ดีให้กับตัวเองได้”


“ดิฉันคิดว่าการที่ดิฉันประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากที่ดิฉันได้รับโอกาสทางการศึกษาจากผู้อุปการะผ่าน EDF ตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 และอีกส่วนมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจของดิฉันเอง-

-เมื่อใดที่มีโอกาสเข้ามา ดิฉันจะพยายามทำให้ดีและสุดความสามารถของตนเองเสมอ”

ดิฉันเชื่อตลอดว่าโอกาสของคนเราไม่ได้มีกันหลายๆ ครั้ง แต่เมื่อใดที่มีโอกาสเข้ามาหาเราแล้ว เราควรไขว่คว้าไว้และทำให้ดีที่สุด ถ้าหากไม่ได้พบ EDF ในวันนั้น ก็คงไม่มีดิฉันในวันนี้”

ดิฉันชื่อ เปรมจิต บำรัมย์ เป็นอดีตนักเรียนทุน EDF พ.ศ. 2535-2540 ดิฉันได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร  ปัจจุบันเป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการอยู่ที่ โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสค่ะ
 
สมัยตอนเด็กๆ พ่อแม่ของดิฉันประกอบอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวไม่มีอาชีพเสริม ผลผลิตที่ได้ก็นำไปขายแค่พอได้ค่าปุ๋ยเท่านั้น พ่อกับแม่ก็เลยต้องเช่านาของคนอื่นทำเพิ่มเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม
 
ดิฉันเป็นลูกสาวคนโตจึงเป็นกำลังหลักที่คอยช่วยเหลือพ่อกับแม่ ดิฉันช่วยพ่อแม่ดำนาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นป.2 แม่ของดิฉันสอนอยู่เสมอว่าต้องดำนาให้เร็วๆและสวยๆต่อไปจะได้มีคนจ้างไปดำนา จนดิฉันอยู่ชั้น ป.5 มีคนจ้างไปดำนาเป็นครั้งแรก ตอนนั้นได้ค่าจ้างวันละ 50 บาท ดิฉันจำได้ว่าดีใจมากเพราะเป็นเงินก้อนแรกที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง พอถึงฤดูเก็บเกี่ยว ดิฉันก็จะไปช่วยแม่รับจ้างเกี่ยวข้าว ในช่วงหน้าฝนแม่ก็จะปลูกผักต่างๆ เช่น ถั่วฝักยาว แตง ถั่วพู และผักกาดเพิ่มเติมค่ะ ดิฉันก็จะช่วยรดน้ำและนำผักไปขาย แต่ถ้าหน้าแล้งก็จะปลูกผักไม่ได้เนื่องจาก มีน้ำไม่พอ และไม่มีลำคลองไหลผ่าน
 
ส่วนพ่อก็จะขี่จักรยานไปหาปลากับเพื่อนๆในแม่น้ำที่หมู่บ้านอื่นอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ 3 กิโลเมตร ถ้าได้ปลามาเยอะก็จะเอาไปขาย แต่ถ้าวันไหนได้น้อยก็จะนำมาทำเป็นอาหารกินกันในครอบครัวค่ะ
              
ชีวิตการเรียนในตอนนั้น เนื่องจากดิฉันลำบากมาตั้งแต่เด็ก ดิฉันจึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องเรียนให้ได้สูงๆ จะได้ไม่ลำบากเหมือนพ่อกับแม่ และจะต้องทำให้ท่านสบายให้ได้ ดิฉันจึงตั้งใจเรียน และมีผลการเรียนดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ พอเรียนใกล้จบชั้น ป.6 คุณครูประจำชั้นได้สอบถามว่าใครจะมีความประสงค์จะเรียนต่อชั้น ม.1บ้าง  ดิฉันจึงได้ไปถามพ่อกับแม่ แต่แม่ต้องการให้ดิฉัน ออกไปทำงานในโรงงานกับญาติที่กรุงเทพฯเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัว แต่ตัวดิฉันเองต้องการเรียนต่อชั้น ม.1 คุณครูประจำชั้นเลยนำเรื่องของดิฉันไปปรึกษาสามีของท่านซึ่งเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาและท่านก็หาทุนการศึกษามา ให้และช่วยพูดให้พ่อแม่เข้าใจ ดิฉันจึงได้เรียนต่อชั้น ม.1 ที่โรงเรียนกำแมดขันติธรรมวิทยาคม อ.กุดชุม จ.ยโสธร และได้รับทุนจาก EDF ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดิฉันดีใจมากที่ได้เรียนต่อและตั้งใจเรียนมาโดยตลอด แต่ละภาคเรียนดิฉันมีผลการเรียนดีติดอันดับต้นๆ เสมอ และยังได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปตอบปัญหาคณิตศาสตร์เป็นประจำทุกปี
 
เงินทุนการศึกษาที่ได้รับตอนม.ต้น ดิฉันนำไปซื้อรองเท้านักเรียน กระเป๋า และหนังสือคู่มือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นอกเหนือจากที่ทางโรงเรียนแจกให้ เพื่อค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ส่วนชุดนักเรียนก็จะมีพี่ๆที่จบไปแล้วนำชุดเก่ามาให้ ซึ่งบางชุดยังใหม่ๆอยู่เลย ดิฉันถือคติที่ว่าของเก่าไม่เป็นไรขอให้เราดูสะอาดและเรียบร้อยก็พอ
 
ส่วนเงินทุนการศึกษา EDF ที่ได้รับต่อเนื่องตอนม.ปลาย ดิฉันก็นำไปซื้อรองเท้า กระเป๋านักเรียน คู่มือคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ส่วนที่เหลือเก็บไว้ไปเป็นค่าเดินทางและค่าสมัครสอบเรียนต่อระดับปริญญาตรี เมื่อจบชั้นม.6 ค่ะ
 
ดิฉันได้พบกับผู้อุปการะทุนครั้งแรกตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นม.1 ซึ่งตอนนั้นผู้อุปการะทุนรวมกลุ่มกันมาเยี่ยมเด็กนักเรียนทุน ผู้อุปการะทุนของดิฉันเป็นคนใจดีและเป็นกันเอง ดิฉันเคารพท่านเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งและรักท่านเหมือนกับพ่อของดิฉันเอง ดิฉันได้เขียนจดหมายพูดคุยกับท่านตลอด เพราะดิฉันคิดว่าท่านควรที่จะได้รับรู้ความเป็นไปของเรา และรับรู้ผลการเรียนของเราทุกภาคเรียนด้วย
 
พอเรียนจบชั้นม.3 ดิฉันไปสอบเรียนต่อชั้น ม.4 ที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด แต่แม่ไม่ให้ไป เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก และยังต้องจ่ายค่าหอพักอีก ดิฉันจึงต้องกลับมาเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเดิม
 
พอเรียนจบชั้น ม.6 ดิฉันไปสอบเรียนต่อระดับปริญญาตรีหลายที่ แต่ก็สอบไม่ติดเลยสักที่ ตอนนั้นรู้สึกเสียใจและไม่อยากให้ผู้อุปการะทุนรู้สึกผิดหวังในตัวดิฉัน ดิฉันจึงตัดสินใจไปเรียนต่อระดับชั้น ปวส.สาขาการบัญชี ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีมุกดาหาร โดยในเทอมแรกได้อาศัยอยู่ที่หอพักของวิทยาลัย และได้อาศัยงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาลเพื่อจ่ายค่าเรียน ซึ่งจะเหลือเป็นค่าครองชีพเพียงเดือนละ 360 บาท ซึ่งไม่พอใช้จ่าย เพื่อนสนิทของดิฉันจึงชวนไปทำงานเป็นพนักงานล้างจานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหารทำงานไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงได้ ไปสมัครเป็นพนักงาน ร้าน7-11 ที่สาขาอินโดจีน ดิฉันจึงได้ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยแล้วก็มีเงินเหลือส่งไปให้แม่และน้องๆทางบ้าน
 
"ดิฉันไม่เคยน้อยใจที่เกิดมายากจนและลำบาก และไม่เคยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่ร่ำรวยกว่า ดิฉันคิดว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่มีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินที่ดีให้กับตัวเองได้ ดิฉันดีใจและภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวแล้วยังสามารถเรียนต่อระดับที่สูงขึ้นได้"
 
ในปี 2546 ดิฉันได้แต่งงานและย้ายมาอยู่กับสามีที่ จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันมีลูกสาว 1 คน ดิฉันหวังอยากให้เขาเป็นเด็กที่ดีมีวินัย  กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ร่ำเรียนให้ได้สูงที่สุดตามความสามารถของเขา และอยากให้เขามีส่วนช่วยเหลือสังคมต่อไปค่ะ
 
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง จนในปี 2550 ทางรัฐบาลได้จัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดิฉันจึงได้ลองไปสอบดู ผลปรากฏว่าดิฉันสอบผ่านได้ทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ ดิฉันจึงมีโอกาสไปเรียนพยาบาลศาสตร์ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ และสามารถสอบชิงทุนของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และได้รับทุนเล่าเรียนเป็นเวลา 3ปี ปีละ20,000 บาท ดิฉันตั้งใจเรียน จนสามารถเรียนจบพยาบาลศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ2 ของมหาลัยมหิดล

 
คุณเปรมจิต พร้อมลูกสาวในวันรับปริญญาพยาบาลศาตรบัณฑิต
 
ปัจจุบันนี้ ดิฉันได้ทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่หน่วยงานฝากครรภ์และห้องคลอดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ปัญหาในการทำงานส่วนใหญ่ คือเรื่องการสื่อสารกับผู้มารับบริการ โดยคนในชุมชนจะพูดภาษายาวีซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น และส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ดิฉันจึงพยายามปรับตัวโดยเรียนภาษายาวีเพิ่มเติมกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนในพื้นที่อยู่เสมอ
 
"ดิฉันคิดว่าการที่ดิฉันประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจาก การที่ดิฉันได้รับโอกาสทางการศึกษาจากผู้อุปการะผ่าน EDF ตั้งแต่ชั้น ม.1 จนจบชั้น ม.6 และอีกส่วนหนึ่งมากจาก ความมุ่งมั่นตั้งใจของดิฉัน เมื่อใดก็ตามที่มีโอกาสเข้ามาในชีวิต ดิฉันจะพยายามทำให้ดีที่สุด และสุดความสามารถของตนเองเสมอ ดิฉันเชื่อตลอดว่าโอกาสของคนเราไม่ได้มีกันหลายๆครั้ง แต่เมื่อไหร่ที่มีโอกาสเข้ามาเราแล้ว เราควรไขว่คว้าไว้และทำให้ดีที่สุด ถ้าหากดิฉันไม่ได้พบ EDF ในวันนั้น ก็คงไม่มีดิฉันในวันนี้ ดิฉันขอขอบพระคุณผู้อุปการะทุน คุณครูประจำชั้นและเจ้าหน้าที่ EDF ทุกท่านที่มีส่วนร่วมให้ดิฉันมีวันนี้ได้"
 
ในอนาคตดิฉันอยากจะเรียนต่อระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้มาพัฒนางานดูแลสุขภาพของคนในชุมชนในพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ค่ะ สำหรับคนภายนอกอาจจะมองว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดูน่ากลัว แต่คนในชุมชนแห่งนี้ยังต้องการคนดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น ดิฉันจึงขอเลือกปฏิบัติหน้าที่พยาบาลในพื้นที่นี้ต่อไป เพื่อตอบแทนทางโครงการฯที่ได้ให้โอกาสดิฉันเรียนพยาบาล และยังเป็นการตอบแทนคุณของแผ่นดินอีกด้วยค่ะ
               
เป้าหมายในชีวิต ดิฉันอยากสร้างครอบครัวที่อบอุ่นและสมบูรณ์ มีฐานะทางครอบครัวที่ดีขึ้น อยากให้ลูกได้รับการศึกษาที่สูงที่สุดเท่าที่เขาจะเรียนได้ และขณะเดียวกันดิฉันก็จะกลับมาช่วยเหลือ ตอบแทนสังคม เพื่อมอบโอกาสให้แก่ผู้อื่นเหมือนอย่างที่ดิฉันเคยได้รับมาในอดีต

 
คุณเปรมจิตกับบทบาทปัจจุบันในฐานะพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

ดิฉันได้ติดต่อกับ EDF อีกครั้ง หลังจากที่ได้ไปเรียนพยาบาลที่กรุงเทพฯ ดิฉันอยากให้ผู้อุปการะทุนทราบว่าการที่ดิฉันได้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ในครั้งนี้เป็นเพราะท่านได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ดิฉันตั้งแต่ในวัยเด็ก ดิฉันจึงติดต่อผ่าน EDF เพื่อเขียนจดหมายไปเล่าให้ท่านฟัง และถ้าหากดิฉันได้มีโอกสพบผู้อุปการะทุนอีกครั้งดิฉันจะบอกกับท่านว่าดิฉันขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างมาก ในชีวิตนี้ดิฉันจะไม่ลืมพระคุณท่านเลย
 
ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยเรียนม.ต้น ทุนการศึกษามีความสำคัญและมีความจำเป็นมากกับเด็กๆในชนบท ถึงแม้ว่าจำนวนเงินทุนอาจจะไม่มากสำหรับคนบางคนแต่สำหรับเด็กๆในชนบทหรือเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนจริงๆมันเป็นจำนวนเงินที่มากและมีค่าสำหรับพวกเขาเหล่านั้นและดิฉันเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นจะใช้เงินทุนนี้อย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุดเกี่ยวกับการศึกษา ถึงแม้ว่าปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยจะเปลี่ยนไปจากเดิม รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษามากกว่าสมัยก่อน แต่เด็กๆในชนบทก็ยังมีความจำเป็นที่จะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อนำไปใช้สิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่พวกเขาขาดแคลนที่นอกเหนือจากรัฐบาลให้การสนับสนุน
 
ดิฉันคิดว่าคนที่ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น จะได้รับโอกาสและมีบทบาททางสังคมที่มากขึ้นตามไปด้วย และพวกเขาก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นได้ด้วย ในอนาคตพวกเขาก็จะกลับมาตอบแทนสังคมเพื่อให้คนอื่นได้รับโอกาสเหมือนอย่างที่เขาเคยได้รับจากผู้อุปการะทุนและได้รับจากEDF พวกเขาก็จะไม่มีวันลืมพระคุณของท่านเหมือนอย่างที่ดิฉันก็จะไม่มีวันลืมEDF และผู้อุปการะทุนของดิฉันเลย
2012-11-28 | เรื่องจริงของเด็กนักเรียนทุน EDF | เปิดอ่าน 23764

ลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสาร EDF

มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา(EDF)
594/ 22 พาทิโอ เรสซิเดนซ์ รัชโยธิน ซอยพหลโยธิน 32 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร: 02-579-9209 ถึง11 | Line: @edfthai | อีเมล์: [email protected]
Connect with EDF        
มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาเป็นองค์กรสาธารณกุศลลำดับที่ 255
ทุกการบริจาคผ่าน มูลนิธิฯ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีตามกฎหมาย
© 2011 EDF-Thailand