ยายมีอาชีพรับจ้างก่อสร้าง บ่อยครั้งที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด บางครั้งอาจนานถึง 2-3 เดือน ทำให้วุ้น ต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังเป็นประจำ
ช่วงที่ยายไม่อยู่ จะฝากเงินไว้กับคนข้างบ้าน 500 บาท เพื่อให้วุ้นไว้ใช้จ่าย ซึ่งเขาต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่ ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ล้างจาน และหุงหาอาหารทั้งเช้า และเย็น ซึ่งเมนูประจำที่เด็กอย่างเขาพอจะทำได้ก็คือต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และทอดไข่ หลายครั้งที่เงินที่ยายฝากไว้ไม่พอ คนข้างบ้านก็จะแบ่งกับข้าวมาให้บ้าง หากเจ็บไข้ได้ป่วยวุ้นจะต้องติดต่อญาติ ที่อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งเพื่อให้ช่วยพาไปหาหมอ
เด็กชายกิตินันท์ หรือ วุ้น วัย 12 ปี และคุณยายวัย 58 ปี อาชีพรับจ้างก่อสร้าง
ทุกๆ วัน วุ้นจะเดินเท้าไป-กลับ โรงเรียนที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร และยังต้องทำงานพิเศษรับจ้างเก็บผักหลังเลิกเรียน รับจ้างเก็บขี้ยาง และถอนหญ้าในไร่มันสำปะหลัง ในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยค่าจ้างที่ได้จะนำไปให้ยายเก็บไว้ หรือหากยายไม่อยู่ เขาก็จะต้อง จัดสรรเงินที่ได้ให้พอสำหรับค่ากินอยู่ในแต่ละวัน หากเงินไม่พอ วุ้นก็ต้องขาดเรียนเพื่อไปรับจ้างทำงานหาเงินเพิ่มเติม
คุณครูบอกกับเราว่า “วุ้นอาจไม่ใช่เด็กที่เรียนดี แต่ก็ไม่ใช่เด็กเกเร มีผลการเรียนปานกลาง วิชาที่ชอบเรียน และทำได้ดีคือ สังคมศึกษา สิ่งที่ครูเป็นห่วงคือ การที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวบ่อยครั้งและการขาดเรียนเพื่อไปทำงานหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว”
วุ้นพูดถึงความฝันในอนาคตของเขาว่า “โตขึ้นผมอยากเป็นทหาร เพราะยายอยากให้ผมทำงานรับใช้ชาติ ผมอยากทำให้ยายภูมิใจ ผมคงดีใจมากถ้าได้รับทุนการศึกษา ผมจะได้ไม่ต้องหยุดเรียนเพื่อไปรับจ้างทำงานครับ”
หลังจากแม่และพี่ๆแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น วุ้นก็ต้องอาศัยอยู่กับยาย ในบ้านหลังนี้
ในวันนี้นอกจาก “วุ้น” แล้ว ยังมีเด็กด้อยโอกาสอีกกว่าหนึ่งหมื่นคน ในความดูแลของ มูลนิธิ EDF ที่ต้องเผชิญกับ “บททดสอบของชีวิต” ที่อาจต้องเดิมพันด้วย “อนาคตทางการศึกษา” ของพวกเขา เด็กๆ หลายคนอาจกำลัง “หมดแรง” ในขณะที่บางคนกำลัง “ท้อแท้” ที่จะต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต
นอกเหนือจาก “ความเห็นใจ” แล้ว เด็กๆ เหล่านี้ต้องการ “ความช่วยเหลือ” อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะ “ความช่วยเหลือทางการศึกษา” ซึ่งไม่เพียงช่วยให้พวกเขามีความรู้ และปัญญา ที่จะเอาชนะบททดสอบต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตได้ด้วยตนเองอย่าง “เข้มแข็ง” และ “ยั่งยืน” แต่ยังเป็น “กำลังใจ” สำคัญ ที่ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่ากำลังต่อสู้อยู่กับ “ชะตาชีวิต” อยู่เพียงลำพัง
|