THA  ENG   JPN
หน้าหลัก > เรื่องจริงของเด็กนักเรียนทุน EDF > อีกมุมหนึ่งของชีวิตในอุทกภัย
อีกมุมหนึ่งของชีวิตในอุทกภัย
เด็กชายธีรวัฒน์ ดอกไม้ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนบ้านหนองบัวไชยวาน จังหวัดศรีษะเกษ เป็นเด็กนักเรียนยากจนอีกคนหนึ่งที่สมัครขอรับทุนการศึกษาEDFในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นประจำปีการศึกษา 2555 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2554 นี้

แต่ผลกระทบที่เขาได้รับอาจจะแตกต่างจากคนอื่น เนื่องจากบ้านของธีรวัฒน์ที่จังหวัดศรีสะเกษนั้นไม่ได้ถูกน้ำท่วมแต่อย่างใด

ธีรวัฒน์อาศัยอยู่กับยายและลูกพี่ลูกน้องวัยไล่เลี่ยกันอีก 4 คนที่ญาติๆเอามาฝากให้ยายเลี้ยง ยายเคยมีรายได้จากการทอผ้าแต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้วเนื่องจากอายุมากและสายตาไม่ดี รายได้หลักเพียงอย่างเดียวของครอบครัวจึงมาจากพ่อเลี้ยงและแม่ของธีรวัฒน์ที่ไปทำงานเป็นลูกจ้างรายวันที่ปทุมธานี ซึ่งส่งเงินมาให้มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับรายได้ที่ไม่แน่นอนในแต่ละเดือน แต่เมื่อรวมกับเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาทของยายแล้ว ยายจะมีเงินเป็นค่าเลี้ยงดูหลานๆในวัยเรียนทั้ง 5 คนรวมกันประมาณไม่เกินเดือนละ 2,000บาทเท่านั้น

แม่ของธีรวัฒน์แยกทางกับพ่อแท้ๆของเขาตั้งแต่เขายังจำความไม่ได้ และหลังจากนั้นแม่ก็ได้แต่งงานใหม่และย้ายไปทำงานเป็นลูกจ้างรายวันอยู่ที่โรงงานวางระบบท่อแห่งหนึ่งในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว

คุณครูของธีรวัฒน์เล่าให้เราฟังว่า“ธีรวัฒน์ได้ค่าขนมไปโรงเรียนกับน้องๆรวมกันวันละ 10-15 บาท หากเดือนไหนทางผู้ปกครองของเด็กส่งเงินมาให้น้อยก็จะไม่มีค่าขนม ครูก็จะแบ่งอาหารกลางวันให้ทานอยู่เสมอ ส่วนในเรื่องการเรียน ธีรวัฒน์ มีผลการเรียนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เป็นเด็กเงียบเก็บตัว อาจเป็นเพราะไม่ได้รับความอบอุ่นและการดูแลจากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็กๆ แต่ตัวเด็กเองก็อยากเรียนต่อชั้นม.1เพราะอยากมีงานดีๆทำจะได้เอาเงินมาเลี้ยงดูยายที่ชรา ”

 

เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมาน้ำได้เข้าท่วมโรงงานที่พ่อเลี้ยงและแม่ของธีรวัฒน์ทำงานอยู่ทำให้โรงงานต้องปิดตัวลง ทำให้ในปัจจุบันนี้ทั้ง 6 ชีวิตในครอบครัวนี้ดำรงชีพอยู่ด้วยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของยายเดือนละ 500 บาทเท่านั้น
 
ธีรวัฒน์บอกกับเราว่า“พ่อ(พ่อเลี้ยง)เล่าเรื่องน้ำท่วมให้ฟังบ้างเหมือนกันครับ ตอนนี้รู้เพียงว่าทางบริษัทให้หยุดงานไว้ก่อน เพราะน้ำท่วม พ่อกับแม่เลยอพยพไปอยู่กับญาติที่บ้านเกิดของพ่อที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา รอเค้าแจ้งมาว่าน้ำจะลดเมื่อไร ซึ่งตั้งแต่หลังน้ำท่วมทางพ่อไม่ได้ส่งเงินรายได้มาให้ยายเลย และผมรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มาก เพราะถ้าไม่มีน้ำท่วม พ่อกับแม่ก็จะได้มีงานทำและส่งเงินมาให้ผมและน้องๆได้ไปโรงเรียนกัน”




เด็กชายธีรวัฒน์ กับยายนวล ครุฑรำที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็กๆ
 


เรามีโอกาสได้โทรศัพท์คุยกับนายสนอง พ่อเลี้ยงของธีรวัฒน์เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นซึ่งเขาเล่าให้เราฟังว่า“ผมกับแม่ของเด็กทำงานเป็นคนงานรับเหมาก่อสร้าง ต่อเติมบ้านหรือโรงงาน วางระบบท่อ อยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ในช่วงแรกๆมีเงินเดือนประจำทุกเดือน แต่มาพักหลังได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างให้เป็นงานๆไป ช่วงไหนมีงานก็มีรายได้ แต่ถ้าไม่มีงานก็ไม่มีรายได้ ทำให้รายได้ไม่แน่นอน บางครั้งก็ต้องไปหาเช่าขับแท็กซี่เพื่อหารายได้เสริม หลังจากน้ำเข้าที่ลำลูกกา บริษัทถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมดเพราะเป็นโกดังชั้นเดียว และได้ให้พนักงานหยุดงานมาหลายเดือนแล้ว ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่เค้าจะเรียกกลับไปทำงาน งานขับแท็กซี่ก็วิ่งไม่ได้แล้ว และการที่เราไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการเพื่อผู้ประสบภัยจากหน่วยงานราชการเหมือนคนอื่นเขา ตอนนี้เป็นห่วงลูก (ธีรวัฒน์) เหมือนกันถึงเขาจะไม่ใช่ลูกแท้ๆแต่ก็เห็นเขามาตั้งแต่เด็กๆ อยากให้เขาได้เรียนสูงๆจะได้ไม่ต้องมาทำงานรับจ้างรายวันหาเช้ากินค่ำ เหมือนผมกับแม่ของเขา”
               
เรื่องราวของเด็กชายธีรวัฒน์ ถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่สามารถสะท้อนปัญหาที่เกิดจากอุทกภัยในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีปัจจุบันนี้ มีคนยากจนในชนบทมากมายที่อพยพเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ประสบอุทกภัย ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ลูกหลานและครอบครัวของคนเหล่านี้ที่อยู่ในชนบทก็ต้องกลายมาเป็นผู้ประสบอุทกภัยทางอ้อมจากการที่เสาหลักของครอบครัวที่ไปทำงานในพื้นที่ประสบอุทกภัยต้องว่างงาน ตกงานและขาดรายได้ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้กำลังบั่นทอนอนาคตทางการศึกษาของเด็กๆเหล่านี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายหลักๆของการศึกษาของเด็กๆในชนบทไม่ได้มีเพียงแต่ค่าเทอม หรือชุดนักเรียนเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องเดินทางไปโรงเรียน และมีอาหารที่เพียงพอกินพวกเขาจึงจะอยู่รอดและเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
 
ท่านสามารถช่วยเหลือเด็กๆเหล่านี้ได้ผ่านโครงการทุนการศึกษา EDF ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพียงการบริจาคปีละ 2,000 บาท หรือ 200-500 บาท ต่อเดือน เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสกลับไปเรียนหนังสืออย่างมีความสุขอีกครั้งหนึ่งในปีการศึกษา 2555 นี้
2011-12-09 | เรื่องจริงของเด็กนักเรียนทุน EDF | เปิดอ่าน 12016

ลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสาร EDF

มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา(EDF)
594/ 22 พาทิโอ เรสซิเดนซ์ รัชโยธิน ซอยพหลโยธิน 32 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร: 02-579-9209 ถึง11 | Line: @edfthai | อีเมล์: [email protected]
Connect with EDF        
มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาเป็นองค์กรสาธารณกุศลลำดับที่ 255
ทุกการบริจาคผ่าน มูลนิธิฯ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีตามกฎหมาย
© 2011 EDF-Thailand